วันอาทิตย์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หมายถึง การใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างฉลาด โดยใช้ให้น้อย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยคำนึงถึงระยะเวลาในการใช้ให้ยาวนาน และก่อให้เกิดผลเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด รวมทั้งต้องมีการกระจายการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างทั่วถึง อย่างไรก็ตาม ในสภาพปัจจุบันทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีความเสื่อมโทรมมากขึ้น ดังนั้นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงมีความหมายรวมไปถึงการพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมด้วย
การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสามารถกระทำได้หลายวิธี ทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนี้
1. การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยทางตรง ซึ่งปฏิบัติได้ในระดับบุคคล องค์กร และระดับประเทศ ที่สำคัญ คือ
            1) การใช้อย่างประหยัด คือ การใช้เท่าที่มีความจำเป็น เพื่อให้มีทรัพยากรไว้ใช้ได้นานและเกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่ามากที่สุด
            2) การนำกลับมาใช้ซ้ำอีก สิ่งของบางอย่างเมื่อมีการใช้แล้วครั้งหนึ่งสามารถที่จะนำมาใช้ซ้ำได้อีก เช่น ถุงพลาสติก กระดาษ เป็นต้น หรือสามารถที่จะนำมาใช้ได้ใหม่โดยผ่านกระบวนการต่างๆ เช่น การนำกระดาษที่ใช้แล้วไปผ่านกระบวนการต่างๆ เพื่อทำเป็นกระดาษแข็ง เป็นต้น ซึ่งเป็นการลดปริมาณการใช้ทรัพยากรและการทำลายสิ่งแวดล้อมได้
            3) การบูรณซ่อมแซม สิ่งของบางอย่างเมื่อใช้เป็นเวลานานอาจเกิดการชำรุดได้ เพราะฉะนั้นถ้ามีการบูรณะซ่อมแซม ทำให้สามารถยืดอายุการใช้งานต่อไปได้อีก
            4) การบำบัดและการฟื้นฟู เป็นวิธีการที่จะช่วยลดความเสื่อมโทรมของทรัพยากรด้วยการบำบัดก่อน เช่น การบำบัดน้ำเสียจากบ้านเรือนหรือโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น ก่อนที่จะปล่อยลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ส่วนการฟื้นฟูเป็นการรื้อฟื้นธรรมชาติให้กลับสู่สภาพเดิม เช่น การปลูกป่าชายเลน เพื่อฟื้นฟูความ      สมดุลของป่าชายเลนให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ เป็นต้น
            5) การใช้สิ่งอื่นทดแทน เป็นวิธีการที่จะช่วยให้มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติน้อยลงและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก การใช้ใบตองแทนโฟม การใช้พลังงานแสงแดดแทนแร่เชื้อเพลิง การใช้ปุ๋ยชีวภาพแทนปุ๋ยเคมี เป็นต้น
            6) การเฝ้าระวังดูแลและป้องกัน เป็นวิธีการที่จะไม่ให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมถูกทำลาย เช่น การเฝ้าระวังการทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูลลงแม่น้ำ คูคลอง การจัดทำแนวป้องกันไฟป่า เป็นต้น


2.  การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยทางอ้อม สามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้
            1) การพัฒนาคุณภาพประชาชน โดนสนับสนุนการศึกษาด้านการอนุรักษ์ทรัพยกรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ถูกต้องตามหลักวิชา ซึ่งสามารถทำได้ทุกระดับอายุ ทั้งในระบบโรงเรียนและสถาบันการศึกษาต่างๆ และนอกระบบโรงเรียนผ่านสื่อสารมวลชนต่างๆ เพื่อให้ประชาชนเกิดความตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นในการอนุรักษ์ เกิดความรักความหวงแหน และให้ความร่วมมืออย่างจริงจัง
            2) การใช้มาตรการทางสังคมและกฎหมาย การจัดตั้งกลุ่ม ชุมชน ชมรม สมาคม เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่างๆ ตลอดจนการให้ความร่วมมือทั้งทางด้านพลังกาย พลังใจ พลังความคิด ด้วยจิตสำนึกในความมีคุณค่าของสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรที่มีต่อตัวเรา เช่น กลุ่มชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของนักเรียน นักศึกษา ในโรงเรียนและสถาบันการศึกษาต่างๆ มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร มูลนิธิโลกสีเขียว เป็นต้น
            3) ส่งเสริมให้ประชาชนในท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ช่วยกันดูแลรักษาให้คงสภาพเดิม ไม่ให้เกิดความเสื่อมโทรม เพื่อประโยชน์ในการดำรงชีวิตในท้องถิ่นของตน การประสานงานเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และความตระหนักระหว่างหน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับประชาชน ให้มีบทบาทหน้าที่ในการปกป้อง คุ้มครอง ฟื้นฟูการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด
            4) ส่งเสริมการศึกษาวิจัย ค้นหาวิธีการและพัฒนาเทคโนโลยี มาใช้ในการจัดการกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การใช้ความรู้ทางเทคโนโลยีสารสนเทศมาจัดการวางแผนพัฒนา การพัฒนาอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ให้มีการประหยัดพลังงานมากขึ้น การค้นคว้าวิจัยวิธีการจัดการ การปรับปรุง พัฒนาสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืน เป็นต้น
            5) การกำหนดนโยบายและวางแนวทางของรัฐบาล ในการอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อมทั้งในระยะสันและระยะยาว เพื่อเป็นหลักการให้หน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องยึดถือและนำไปปฏิบัติ รวมทั้งการเผยแพร่ข่าวสารด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งทางตรงและทางอ้อม

วันจันทร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2554

ทรัพยากรปะการัง



การอนุรักษ์ปะการัง
          1. ไม่เก็บปะการังที่หักหรือเก็บขึ้นมาจากท้องทะเล ในแต่ละกิ่งแต่ละก้านนั้น หมายถึง ชีวิตนับร้อยนับพันชีวิตที่ต้องตายลงจากโครงสร้างของปะการังที่ต้องใช้เวลานับร้อยนับพันปีในการเจริญเติบโต และการเสื่อมสลายของปะการังนั้นนำไปสู่ผลของการเสื่อมสูญอาหารจากทะเลในอนาคต เพราะปะการังเป็นที่อยู่อาศัยของชีวิตจากท้องทะเล เราจึงไม่ควรเก็บ ซื้อปะการังมาเป็นของที่ระลึก หรือประดับตู้ปลา
          2. ไม่ทิ้งสมอเรือในแนวปะการัง การทอดสมอเรือในแนวปะการังเพื่อจอดเรือในแต่ละครั้งจะสร้างความเสียหายให้กับปะการัง ปัจจุบันได้มีการแก้ไขโดยการวางทุ่นเพื่อผูกเรือแทนการทอดสมอเรือ เพื่อการคุ้มครองปะการัง กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมโดยความช่วยเหลือทางวิชาการ จากมหาวิทยาลัยโรดส์ไอร์แลนด์ แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ได้จัดทำทุ่นเพื่อผูกเรือได้ประมาณ 2-3 ลำต่อทุ่น
          3. ไม่ทิ้งขยะ นักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไปต้องไม่ทิ้งขยะและเศษสิ่งของลงท้องทะเล เพราะธรรมชาติจะสวยงามได้ตลอดไป ตราบเท่าเราไม่เข้าไปทำลาย การค้าขายปะการัง ในฐานะประชาชนในท้องถิ่นของเราให้หมดไป
          4. นำเรือท้องกระจกเพื่อให้ดูปะการัง 
          5. ประชาสัมพันธ์ให้มีการตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรปะการัง โดยให้มีการศึกษาและเผยแพร่ความรู้และคุณค่าของปะการังให้กับบุคคลทุกประเภท ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ในการป้องกันและฟื้นฟูปะการัง 
          6. ส่งเสริมให้กลุ่มชุมชน องค์กรเอกชนสมาคมหรือชมรมการท่องเที่ยว ร่วมกันจัดกิจกรรมในเรื่องการรักษาความสะอาด เพื่อการคุ้มครองปะการัง 


ทรัพยากรป่าชายเลน

 
การอนุรักษ์ป่าชายเลน
          เพื่อให้การใช้พื้นที่ป่าชายเลนเหมาะสมและสอดคล้องกับการพัฒนาเพื่อมุ่งสู่ประโยชน์ การอนุรักษ์ป่าชายเลน ควรมีวิธีการดังนี้
          1. การใช้ประโยชน์อย่างยาวนาน ปัจจุบันพื้นที่ป่าชายเลน ได้ถูกทำลายลงอย่างมากโดยเฉพาะจากการตัดถนน การทำนากุ้ง ดังนั้นจึงควรมีมาตรการที่เหมาะสมในการใช้ประโยชน์ป่าชายเลน
          2. การปลูกป่า ควรมีการฟื้นฟูป่าชายเลนที่เสื่อมสภาพ การปลูกสร้างป่าชายเลนขึ้นใหม่ในบริเวณที่สภาพแวดล้อมเอื้ออำนวย
          3. การใช้ป่าชายเลนอย่างผสมผสาน ในกรณีที่มีความต้องการใช้ประโยชน์จากป่าชายเลน ควรพิจารณาอย่างรอบคอบและใช้ให้คุ้มค่าในทรัพยากรที่มีอยู่ในบริเวณนั้นหลาย ๆ อย่างผสมผสานกันไป

ทรัพยากรพลังงาน


การอนุรักษ์พลังงาน
          พลังงานเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้เวลาในการเกิดยาวนาน ถ้ามนุษย์เราใช้พลังงานกันอย่างฟุ่มเฟือยก็จะทำให้พลังงานหมดไปอย่างรวดเร็ว และอาจทำให้เกิดการขาดแคลนพลังงานได้ ดังนั้นเราจึงควรอนุรักษ์พลังงานเพื่อให้มีพลังงานใช้ในอนาคต โดยการ
          1. ใช้พลังงานอย่างประหยัด เช่น การใช้พลังงานไฟฟ้าถ้าไม่ใช้ปิดสวิตช์ ถอดปลั๊กให้เรียบร้อย
          2. หาแหล่งพลังงานทดแทนแหล่งพลังงานที่มีอยู่เดิม

ทรัพยากรแร่ธาตุ

การอนุรักษ์แร่ธาตุ
          ดังได้กล่าวมาแล้วถึงทรัพยากรแร่ธาตุในปัจจุบันซึ่งกำลังประสบปัญหาหากไม่มีการแก้ไข อาจทำให้แร่ธาตุหมดอย่างรวดเร็ว
          1. การใช้แร่ธาตุอย่างประหยัด ในการทำเหมืองแร่บางอย่างนั้นบางทีทรัพยากรแร่ธาตุที่ได้มาอาจมีหลายชนิด ดังนั้นจึงควรจะพยายามใช้ให้คุ้มค่าทุกชนิด อย่างประหยัดและลดการสูญเปล่า
          2. การสำรวจแหล่งแร่ ควรมีการเร่งรัดการสำรวจทรัพยากรแร่ธาตุให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อประโยชน์ในการวางแผนการใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า
          3. การใช้แร่ชนิดอื่นทดแทน พยายามหาแร่ธาตุอื่น ๆ มาใช้ทดแทนแร่ที่ใช้กันมาก อาทิการใช้อลูมิเนียมแทนเหล็ก
          4. นำแร่ที่ใช้แล้วกลับมาใช้อีก อาทิภาชนะเครื่องใช้ที่เป็นอลูมิเนียมบางอย่างที่หมดสภาพการใช้แล้วสามารถนำกลับมาหลอมใช้ใหม่ได้อีก
          5. การจัดเก็บภาษีและค่าภาคหลวงแร่ ต้องให้สอดคล้องกับจำนวนแร่และราคาของแร่ด้วย


         

ทรัพยากรสัตว์ป่า

การอนุรักษ์สัตว์ป่า
          1. กฎหมาย กฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่าควรกว้างแต่รัดกุม เพื่อคุ้มครองชิวิตสัตว์ป่าให้ปลอดภัย กฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่าของไทยที่ใช้กันอยู่เป็นพระราชบัญญัติ พ.ศ. 2535 ที่สำคัญคือการควบคุมดูแลให้เกิดการปฏิบัติของทุกคนบุคคลเป็นไปตามกฎหมาย
          2. การควบคุมสัตว์ที่กินสัตว์อื่นเป็นอาหาร มาตรการนี้ใช้ปฏิบัติกันมากในระยะของการจัดการสัตว์ป่าในสหรัฐอเมริกา หลายครั้งที่มีการให้รางวัลสำหรับการฆ่าสัตว์ที่กินสัตว์อื่น
          3. การพัฒนาที่อยู่อาศัย แนวทางการจัดการสัตว์ป่าที่ดีที่สุดในปัจจุบันคือ เพิ่มที่อยู่อาศัย พร้อมกับปรับปรุงคุณภาพที่อยู่อาศัยที่มีอยู่ให้ดีขึ้น เพราะว่าไม่ว่าจะออกกฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่าควบคุมสัตว์ที่กินสัตว์ ขยายพันธุ์เทียม หรือนำสัตว์จากที่อื่นเข้ามาเลี้ยง สัตว์ป่าก็ยังคงอยู่ในอันตราย ถ้าขาดที่อยู่อาศัย
          4. การรณรงค์เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ให้เห็นความสำคัญในการอนุรักษ์สัตว์ป่าอย่างจริงจัง
          5. การไม่ล่าสัตว์ป่า ไม่ควรมีการล่าสัตว์ป่าทุกชนิด ทั้งสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง เพราะปัจจุบันสัตว์ป่าทุกชนิดได้ลดจำนวนลงอย่างมากทำให้ขาดความสมดุลทางธรรมชาติ
          6. การป้องกันไฟป่า ไฟป่านอกจากจะทำให้ป่าไม้ สัตว์ป่าถูกทำลายแล้วยังเป็นการทำลายแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าด้วย
          7. การปลูกฝังการให้ความรักและเมตตาต่อสัตว์อย่างถูกวิธี สัตว์ป่าทุกชนิดมีความรักชีวิตเหมือนกับมนุษย์ การฆ่าสัตว์ป่า การนำสัตว์ป่ามาเลี้ยงไว้ในบ้านเป็นการทรมานสัตว์ป่าซึ่งมักไม่มีชีวิตรอด
          8. การเพาะพันธุ์สัตว์ป่าที่กำลังจะสูญพันธุ์หรือมีจำนวนน้อยลง ควรมีการเพาะพันธุ์ขยายพันธุ์ให้มีจำนวนเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการทดแทนและเร่งให้มีสัตว์ป่าเพิ่มขึ้น 

       

ทรัพยากรป่าไม้

การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้
          

 ปัจจุบันป่าไม้ถูกทำลายไปจำนวนมาก การทำลายป่าไม้นอกจากจะทำให้ปริมาณไม้ที่จะใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจลดลงโดยตรงแล้ว ยังเป็นผลที่ทำให้เกิดความสูญเสียต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรอย่างมากมายอีกด้วย เป็นที่ทราบกันดีว่าป่าไม้ช่วยทำให้อากาศชุมชื้นเพราะป่าไม้จะช่วยเก็บน้ำไว้ได้ ทำให้เกิดต้นน้ำลำธารและกระแสน้ำไหลไปตามปกติ ช่วยป้องกันการพังทลายของหน้าดิน ช่วยทำให้ดินอุดมสมบูรณ์ นอกจากนี้ป่าไม้ยังช่วยทำให้เกิดพืชพันธุ์ไม้อื่นและสัตว์ป่า
          เนื่องจากต้นไม้จะนำคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศไปใช้ในปีหนึ่ง ๆ นับล้าน ๆ ตัน เมื่อป่าไม้ถูกตัดทำลายลงในอัตราที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เชื่อว่า พ.ศ. 2543 ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศมีปริมาณขึ้นอย่างน้อย 25 เปอร์เซ็นต์ มีผลให้อุณหภูมิของอากาศเพิ่มขึ้น ทำให้อากาศร้อนและแห้งแล้ง 
          ดังนั้นการฟื้นฟูสภาพป่าไม้จึงต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน ด้วยความร่วมมือทั้งภาครัฐเอกชน และประชาชน โดยรัฐบาลต้องมีแนวทางในการกำหนดแนวนโยบายด้านการจัดการป่าไม้ ซึ่งเกือบทุกประเทศทั้งในเอเชีย ยุโรปและสหรัฐอเมริกามีรากฐานอยู่บนความคิดที่สำคัญ 3 ข้อ คือ 
          1. Sustain yield concept ใจความสำคัญของมโนทัศน์นี้อยู่ที่ว่าอัตราการตัดไม้และอัตราการเจริญเติบโตของไม้ต้องสมดุลกันเพื่อให้มีผลผลิตของไม้ใช้ไปได้โดยไม่มีที่สิ้นสุด
          2. Multiple use concept วัตถุประสงค์การจัดป่าไม้ควรอยู่ในลักษณะอเนกประสงค์ ป่าไม้ไม่ใช่แหล่งไม้เท่านั้น แต่เป็นแหล่งสัตว์ป่า แหล่งนันทนาการ แหล่งน้ำทั้งยังสามารถรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดินและอัตราเพิ่มธาตุอาหารในน้ำที่เรียกว่า Eutrophication ไม่ให้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว สิ่งเหล่านี้ต้องเป็นรากฐานสำคัญของการจัดการป่าไม้ด้วย
          3. Long run policy นโยบายการจัดการป่าไม้ระยะยาวเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการจัดการป่าเพื่อประโยชน์ในระยะสั้นก็ไม่ต่างจากธุรกิจหรือกิจการอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่หวังผลกำไรมากในระยะสั้นโดยไม่คำนึงถึงผลเสียที่จะติดตามมาในระยะยาว ป่าไม้มีอายุยืนยาวเป็นพันปี การจัดการป่าในรูปของสวนป่าโดยปลูกพืชโตเร็วเป็นแถวเป็นระยะ แต่ก็ขาดลักษณะนานาชนิดและความซับซ้อนของป่าเพราะเลือกปลูกพืชเพียงไม่กี่ชนิด การจัดการป่า โดยไม่คำนึงถึงลักษณะป่าเดิมเป็นความเข้าใจผิดอย่างหนึ่ง ดังนั้น ความคิดเกี่ยวกับการจัดการป่าที่ว่า The greatest good for the greatest number in the long runจึงควรเป็นนโยบายสำคัญของการจัดการป่าไม้
         
          สำหรับประเทศไทยรัฐบาลได้กำหนดแนวนโยบายด้านการจัดการป่าไม้ดังนี้
                    1. การกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ที่ดินป่าไม้
                    2. การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้เกี่ยวกับงานป้องกันรักษาป่า การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสันทนาการ
                    3. การจัดการที่ดินทำกินให้แก่ราษฎรผู้ยากไร้ในท้องถิ่น
                    4. การพัฒนาป่าไม้ เช่น การทำไม้ การเก็บหาของป่า การปลูกป่า การบำรุงป่าไม้ การค้นคว้าวิจัย และอุตสาหกรรม การบริหารทั่วไป